เครื่องมือจัดการการอนุญาตของคุณให้ใช้คุกกี้ของเรากำลังออฟไลน์ชั่วคราว การทำงานบางอย่างที่ต้องใช้คำยินยอมให้ใช้คุกกี้อาจหายไป

BMW Group เผยวิสัยทัศน์เบื้องหลังการขับเคลื่อนนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
BMW Group มีความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้จุดมุ่งหมายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามยับยั้งปรากฎการณ์ภาวะโลกร้อนภายใต้หลักการความตกลงปารีส และด้วยแนวคิด “พลังแห่งการเลือก” หรือ “Power of Choice” ยนตรกรรมทุกรุ่นของ BMW Group จึงมาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนที่หลากหลายซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างกันของผู้ขับขี่ได้ ไม่ว่าจะเป็น:
- เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines หรือ ICE) มาพร้อมสมรรถนะอันเหนือชั้น มีให้เลือกทั้งในแบบเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล
- ระบบไฮบริดเสริม 48 โวลต์ (Mild Hybrid Vehicles หรือ MHEV) ที่นำมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้เพื่อเสริมการทำงานของเครื่องยนต์ พร้อมป้อนพลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในตัวรถ
- ระบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicles หรือ PHEV)
- ระบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles หรือ BEV)
- ระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicles หรือ FCEV) ซึ่งเป็นอีกระบบที่บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ติดตั้งระบบไฮบริดเสริม 48 โวลต์ ไม่นับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในฐานข้อมูลและการคาดการณ์ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป
ปัจจุบัน รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู X3 เป็นรุ่นรถยนต์แรกของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ที่มอบทางเลือกระบบขับเคลื่อนให้กับลูกค้าอย่างครบครัน นับตั้งแต่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งแบบเบนซินและดีเซล ไปจนถึงระบบ PHEV และ BEV เส้นทางสู่ยุคแห่งยนตรกรรมไฟฟ้า จะยังคงดำเนินต่อไปในปี พ.ศ. 2564 ด้วยการนำรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู iNEXT เข้าสู่สายการผลิตในฐานะรถยนต์รุ่นเรือธงด้านเทคโนโลยี ที่จะผสมผสานระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเจเนอเรชั่นที่ 5 เข้ากับระบบขับขี่อัตโนมัติระดับสูงที่ล้ำสมัย ในรูปโฉมของรถยนต์ Sports Activity Vehicle ระดับหรู พร้อมด้วย บีเอ็มดับเบิลยู i4 รถยนต์ Gran Coupe สี่ประตูที่จะนำระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าผสมผสานกับเอกลักษณ์ความเป็นบีเอ็มดับเบิลยูอย่างสมบูรณ์แบบ

อนาคตด้านยานยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป
BMW Group คาดการณ์ยอดส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 30% โดยในระดับโลก คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป โลดแล่นอยู่บนท้องถนนถึง 1 ล้านคันภายในปี 2564 และพุ่งสูงขึ้นเป็น 7 ล้านคันภายในปี 2573 โดยสำหรับในตลาดยุโรป คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ BEV จะนับเป็น 2 ใน 3 จากยอดรวมในปี 2573 นี้ ขณะเดียวกัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังคาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า จะมีส่วนแบ่งถึงครึ่งหนึ่งของยอดขายรวมทั้งหมดในตลาดยุโรปภายในปี 2573 อีกด้วย
ทั้งนี้ BMW Group จะมียานยนต์ไฟฟ้านำเสนอออกสู่ตลาดมากถึง 25 รุ่นในตลาดโลก ภายในปี 2566 โดยมากกว่าครึ่งของจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ BEV

ผลของรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่มีต่อประสบการณ์ลูกค้า
นอกจากประโยชน์ที่ชัดเจนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากการขับขี่แบบปราศจากมลพิษ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดยังมอบประโยชน์อีกหลายข้อให้กับผู้ขับขี่ เช่น สิทธิ์ในการเข้าถึงเขตควบคุมมลพิษในบางเมืองอย่างเทียบเท่ารถยนต์ไฟฟ้าล้วน ยิ่งไปกว่านั้น รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดยังช่วยให้เจ้าของรถสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 20-30% เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปอีกด้วย
ในขณะที่หลายคนยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับระยะทางที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำได้ สถิติระบุว่าผู้คนในชาติสหภาพยุโรปมีระยะทางสัญจรเฉลี่ยระหว่างวันไม่เกิน 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดสามารถรับมือได้อย่างง่ายดาย ด้วยการขับขี่แบบพลังงานไฟฟ้าล้วนที่ปราศจากมลภาวะ
ปัจจุบันในตลาดสหภาพยุโรป ลูกค้าสามารถเข้าถึงจุดอัดประจุไฟฟ้ากว่า 155,000 จุด โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป จะเดินหน้าขยายเครือข่ายอัดประจุไฟฟ้าของบริษัทฯ ให้ครอบคลุมถึง 4,100 จุดภายในปี 2564

แรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยโซน eDrive และคะแนน BMW Points
โซน BMW eDrive ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ใน 80 เมืองทั่วทวีปยุโรป เป็นเขตควบคุมมลพิษที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดของบีเอ็มดับเบิลยูสามารถเปลี่ยนไปสู่โหมดการขับขี่แบบไฟฟ้าล้วนได้โดยอัตโนมัติเมื่อเข้าสู่พื้นที่ โดยที่ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องสั่งการใด ๆ นอกจากจะช่วยลดมลภาวะแล้ว พื้นที่เฉพาะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้านี้ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการจราจรที่ติดขัดใจกลางเมือง
เร็วๆ นี้ เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยูจะสามารถสะสมและแลกคะแนน BMW Points จากการขับขี่ในแบบไฟฟ้าล้วนในแต่ละกิโลเมตร โดยจะได้คะแนนสะสมเป็น 2 เท่าด้วยการขับขี่ด้วยระบบดังกล่าวในโซน eDrive ทั้งนี้ จะมีการประกาศข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรม BMW Points ในเร็ว ๆ นี้


การพัฒนาแบตเตอรี่ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการรีไซเคิล ที่ใส่ใจทุกแง่มุมความยั่งยืน
ปัจจุบัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ดูแลและควบคุมทุกขั้นตอนของการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แบตเตอรี่ นับตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยไปจนถึงการผลิต โดยมีโรงงานกว่า 11 แห่งภายใต้เครือข่ายของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป รวมไปถึงโรงงานที่จังหวัดระยองในประเทศไทย ที่มีศักยภาพในการผลิตและประกอบแบตเตอรี่ นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังมุ่งมั่นที่จะสรรสร้างนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าล้ำสมัยที่ผ่านการพิสูจน์สมรรถนะมาแล้วตั้งแต่ในห้องแล็บและสนามแข่ง Formula E กับทีม บีเอ็มดับเบิลยู i มอเตอร์สปอร์ต ก่อนจะมาถึงมือของลูกค้าในรถยนต์รุ่นที่ผลิตเพื่อทำตลาด ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป คาดการณ์ว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แบตเตอรี่จะส่งผลให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูงขึ้นเป็น 2 เท่าในขนาดเท่าเดิมได้ ภายในปี 2573
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังควบคุมทั้งห่วงโซ่อุปทานของเซลล์แบตเตอรี่ในแง่ของมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยสมบูรณ์ ด้วยข้อตกลงในการจัดหาแร่โคบอลต์และลิเธียมในรูปแบบที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับคำมั่นสัญญาที่จะลดและยุติการใช้แร่ธาตุหายาก หรือแร่แรร์เอิร์ธ ในห่วงโซ่อุปทาน โดยปัจจุบัน ทุกเซลล์แบตเตอรี่ของรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ eDrive เจเนอเรชั่นที่ 5 ถูกผลิตด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความมุ่งมั่นในด้านการผลิตและประกอบรถยนตภายใต้หลักการของความยั่งยืนนี้ จะถูกสะท้อนให้เห็นชัดที่สุดในรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู iX3 ใหม่
ในด้านทางเลือกเทคโนโลยีแบตเตอรี่ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังเห็นศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเซลล์แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน โดยเห็นได้ชัดจากความก้าวหน้าในการเพิ่มความจุแบตเตอรี่ในรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 เป็น 2 เท่าในตัวแบตเตอรี่ขนาดเดิม ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น
เมื่อผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง แบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพลงจนถึงจุดที่ไม่อาจใช้งานต่อได้ ไม่ว่าเพื่อการขับเคลื่อนรถยนต์หรือการใช้งานรูปแบบอื่น ๆ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป จึงตั้งเป้าที่จะรีไซเคิลวัตถุดิบอันมีค่าภายในแบตเตอรี่เหล่านี้ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ เราได้ร่วมมือกับบริษัท Duesenfeld GmbH เพื่อพัฒนากระบวนการในการรีไซเคิลอิเล็กโทรไลต์และแกรไฟต์ในแบตเตอรี่ที่สามารถคืนสภาพวัตถุดิบได้กว่า 90% โดยไม่ทิ้งกากสารพิษไฮโดรเจนฟลูออไรด์ที่เป็นอันตราย ทั้งยังปล่อยมลภาวะออกมาน้อยกว่าวิธีอื่นถึง 40% อีกด้วย