Living | 2560.11.01

แหล่งท่องเที่ยวสถาปัตยกรรมมีอายุยืนยาวของตระกลู “หวั่งหลี”

ล้ง 1919 อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย - เยาวราช ตั้งอยู่บริเวณถนนเชียงใหม่ ย่านคลองสาน ที่ดินแปลงนี้คือท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” พื้นที่จำนวน 6 ไร่ มีอาคารใช้สอยขนาด 6,800 ตารางเมตร ของตระกลูหวั่งหลี พื้นที่ประวัติศาสตร์การค้าระหว่างไทย - จีนโพ้นทะเล

ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่นี้ว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า 火 船 廊 หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่าน ได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์

ตัวเลข 1919 ที่หลายต่อหลายคนต่างพากันค้นหารคำตอบนั่น หมายถึง ปี ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นปีที่ตระกูลหวั่งหลีเจ้าของที่ดินในปัจจุบันได้เข้ามาดูแลพื้นที่ตรงนี้ต่อจากตระกูลพิศาลบุตร

อ่านเพิ่มเติม

ตัวอาคารก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ หยวน” (三 合 院) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์

ล้ง 1919 จึงเป็นหมู่อาคาร “ซาน เหอ หยวน” อาคารแบบจีนโบราณ หลังสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยศิลปะภาพวาดลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิธีชีวิตชาวจีนรอบวงกบหน้าต่าง ซึ่งมีอายุเก่าแก่ กว่า 180 ปี “ฮวย จุ่ง ล้ง” จึงถูกยกฐานะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามกฎหมายการอนุรักษ์ของประเทศไทย

การปรับปรุงตัวอาคารและพื้นที่โดยรอบ ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งจากความตั้งใจของคนในตระกูลควบคุมการอนุรักษ์โดยทายาทผู้เชี่ยวชาญการออกแบบอย่าง รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้ง PIA Interior Company Limited ล้ง 1919 คือ พื้นที่สร้างสรรค์คอนเซปต์ช่างคิดให้คนที่สนใจได้ย้อนเวลาไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์จีนไทย พักผ่อนหย่อนใจไปกับลานกิจกรรมริมน้ำ ร้านค้าจากนักออกแบบไทย และร้านอาหารคอนเซปต์ดีต่อใจ

การบูรณะท่าเรือฮวย จุง ล้ง ครั้งนี้ ก็จะประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญดังนี้

1. ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว
2. อาคารจัดงานอีเว้นท์ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์
3. ลานกิจกรรมกลางแจ้ง
4. Co-Working Space
5. ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์และงานฝีมือจากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่
6. ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ อาทิ ร้านนายห้าง, ร้านอาหารโรงสี, ร้านกาฟงกาแฟ ฯลฯ
7. บริเวณที่นั่งพักผ่อนบริเวณระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา
8. ท่าเรือสัญจรทางแม่น้ำเจ้าพระยา  

โครงการ ล้ง 1919 มีความละเอียดละออ มีคุณค่ามรดกเชิงศิลปวัฒนธรรมในเรื่องของการอนุรักษ์อาคารเก่าบนพื้นที่ประวัติศาสตร์สูงมาก ขั้นตอนการลอกสีตัวผนังอาคารปูนและไม้ เผยให้เห็นลายเส้นโบราณสมัยก่อนที่อยู่มาคู่กับตัวอคาร ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นตัวสร้างเสน่ห์ให้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ โครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถาน ให้คงสภาพงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด เช่น ภาพวาดรอบวงกบ บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด ค่อยๆบรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่ เข้าไประบายทับ หรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น หรืออย่างเช่น การบูรณะผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมาบูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สัก ส่วนไหนที่หักก็นำไม้จากส่วนอื่นๆของอาคารมาต่อเติม ไม่ได้ทิ้งไม้เก่า และไม่ได้ใช้ไม้ใหม่มาเสริมย้อนกลับไปในยุคทองของการค้าไทย-จีน

และนอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรงานบูรณะจิตรกรรมรูปเขียนจีนบนฝาผนัง ณ ฮวย จุง ล้ง และทรงพระกรุณาลงฝีพระหัตถ์แต่งแต้มงานบูรณะ พร้อมทั้งพระกรุณาโปรดเกล้าลงพระนามาภิไธยด้วยหมึกจีนบนผนังของมุมหนึ่งในตัวอาคาร เมื่อบูรณะขึ้นมาแล้ว จะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชน นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4

เปิดให้เข้าเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการในหลังวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

Facebook : https://www.facebook.com/LHONG-1919-472273323122096/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 091-187-1919
ที่ตั้ง : ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน
www.lhong1919.com