Our tool for managing your permission to our use of cookies is temporarily offline. Therefore some functionality is missing.
THE ALL NEW BMW M4 CSL
ไม่บ่อยครั้งที่คุณจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของรถตระกูล M ของบีเอ็มดับเบิลยู และไม่บ่อยครั้งยิ่งกว่าที่รถตระกูล M คันนั้นจะเป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัด และมันจะแรร์สุดๆ เมื่อรถตระกูล M รุ่นพิเศษผลิตจำนวนจำกัดคันที่ว่ามีอักษรสามตัวต่อท้ายเป็น “CSL” ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกือบ 20 ปี จะได้เจอกันสักหนึ่งครั้ง
ชื่อของ CSL ไม่ได้มีปรากฏบ่อยนักในประวัติศาสตร์ของรถตระกูล M จากบีเอ็มดับเบิลยู มันย่อมาจากคำว่า Competition, Sport, Lightweight และถูกนำมาใช้กับรถสปอร์ตสองประตูขนาดกลางอย่าง BMW 3.0 CSL ในปี 1972 เป็นครั้งแรกพร้อมๆ กับการก่อตั้งบริษัท BMW Motorsport GmbH จากนั้นมันก็คว้าแชมป์ในรายการ European Touring Car Championship ทันทีในปี 1973 แต่ภายหลังจากนั้นชื่อ CSL ก็ถูกทิ้งร้างไป 3 ทศวรรษ จนกระทั่งปี 2003 ที่ถูกปลุกขึ้นมาใช้อีกครั้งกับ BMW M3 CSL ซึ่งคนในบีเอ็มดับเบิลยูยุคนั้นต่างยกให้มันเป็นมงกุฎเพชรของ BMW M3 E46
สาเหตุก็เพราะเจ้า BMW M3 CSL มีเทคโนโลยีอัดแน่นราวกับวิศวกรเพิ่งถูกโหรทักมาว่านี่จะเป็นวันสุดท้ายของโลก แล้วเลยตัดสินใจกวาดเอาเทคโนโลยีระดับสุดยอดของ BMW มาจนหมดคลังแสงลับที่อยู่ลึกสุดของศูนย์ปฏิบัติการ BMW M GmbH ยัดลงไปอยู่ในรถคันเดียว เทคโนโลยีที่เป็นเรื่องปกติของรถตระกูล M ในยุคนี้ส่วนมากก็มีจุดกำเนิดมา BMW M3 CSL ทั้งนั้น เช่น Intelligent Lightweight Construction หรือหลังคาทำมาจากวัสดุ CFRP ที่เมื่อคำนวณรวมกับฝากระโปรงอะลูมิเนียมและกระจกหลังแบบบางพิเศษแล้วทำให้หั่นน้ำหนักลงไปจาก BMW M3 รุ่นปกติได้ถึง 110 กิโลกรัม
แม้ว่าระหว่างปี 2003 มาจนถึงปัจจุบันจะมี BMW M3 GTS และ BMW M4 GTS ออกมาทำหน้าที่แทนก็ตาม แต่ชื่อ CSL ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับรถรุ่นไหนอีกเลย จนกระทั่งปี 2022 ในวันที่ BMW M GmbH มีอายุครบครึ่งศตวรรษ ชื่อ CSL ที่ว่าพิเศษแล้ว เมื่อถูกนำกลับมาใช้ในวันที่สำนักบีเอ็มดับเบิลยูในตำนานฉลองวันเกิดครบรอบ 50 ปี ย่อมบอกได้ว่าอะไรที่ต่ำกว่าพิเศษถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้! นี่คือ BMW M4 CSL รถยนต์รุ่นที่สามในประวัติศาสตร์ BMW M GmbH ที่ได้รับเกียรติติดชื่อ CSL ที่ผลิตแค่จำนวนจำกัด 1,000 คัน จากโรงงาน Dingolfing ประเทศเยอรมนีสถานเดียว เรียกได้ว่าขึ้นแท่น BMW Classic ตั้งแต่ล้อของโปรโตไทพ์ยังไม่ทันแตะพื้นด้วยซ้ำ
ตัวรถมีหน้าตาราวกับเครื่องบินรบทางเรียบด้วยสีเทาด้าน Frozen Brooklyn Grey Metallic เป็นมาตรฐาน ซึ่งเข้ากันดีกับรายละเอียดบางจุดที่เป็นผิวคาร์บอนไฟเบอร์เปลือยตัดขอบด้วยสีแดงสด ไฟหน้า BMW Laserlight มีให้มาเป็นมาตรฐาน และมีลูกเล่นตรงที่ไฟ DRL จะติดเป็นสีเหลืองเวลาล็อคหรือปลดล็อครถ รวมถึงในเวลาที่เปิดไฟใหญ่เพื่อให้รู้สึกถึงกลิ่นอายของ BMW M4 GT3 ตัวแข่ง ส่วนไฟท้ายมีการนำเส้นใยนำแสงฝังเข้าไปบนเนื้อเลนส์พลาสติกและส่องสว่างด้วยเลเซอร์ที่มีรูปแบบและแสงแหวกแนวสุดๆ ซึ่งเป็นการนำมาใช้ในรถที่ผลิตขายจริงเป็นครั้งแรก ทำให้ BMW M4 CSL ดูดิบและน่าเกรงขามในระดับที่ไม่ธรรมดา
อย่างที่เล่ามาตอนต้น BMW M4 CSL เป็นมากกว่าเครื่องมือทางการตลาดที่ทำมาโกยงานจากเศรษฐีกระเป๋าหนักผู้รักในความแรงและความแรร์ มันถูกสร้างให้มีจิตวิญญาณของรถแข่งภายใต้ร่างที่สามารถขับบนถนนจริงได้ทุกวันอย่างถูกกฎหมายและไปได้ทุกที่ (เอาเข้าจริงก็ไม่ไหวหรอก..) เริ่มจากการถอดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกให้เกลี้ยงเพื่อลดน้ำหนัก เช่น เบาะหลัง เข็มขัดนิรภัยหลัง ปรับแผ่นบุห้องสัมภาระท้ายรถเป็นชิ้นเดียวกัน ถอดแผ่นซับเสียงบางส่วนทิ้ง ในขณะที่บางส่วนก็เปลี่ยนไปใช้วัสดุน้ำหนักเบาแบบ Ultralight เปลี่ยนเบาะคู่หน้าเป็นบักเก็ทซีท M Carbon ที่ปรับเลื่อนหน้า-ถอยหลังได้ แต่ปรับเอนไม่ได้ และถ้าจะปรับสูงต่ำก็ต้องวิ่งเข้าศูนย์บริการเท่านั้น ลามไปจนถึงชุดเบรก M Carbon ceramic แบบ Extra lightweight ล้อ-สปริง-โช้คอัพน้ำหนักเบาพิเศษ หลังคา-ฝากระโปรงหน้า-ฝากระโปรงท้าย-คอนโซลกลางวัสดุ CFRP หม้อพักไอเสียไทเทนียม กระจังหน้าไตคู่ ไฟท้าย พรมพื้นรถ และระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ที่รวมแล้วลดไปได้ราว 100 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ BMW M4 Competition
ด้านเครื่องยนต์ก็เปลี่ยนไปไม่ใช่น้อย BMW M4 CSL ใช้เครื่องหกสูบเรียง 3.0 ลิตร M TwinPower Turbo บล็อคคู่ใจรถตระกูล M ซึ่งแชร์รากฐานเดียวกันกับ BMW M4 GT3 ตัวแข่ง พ่วงเทอร์โบแบบ Mono Scroll สองตัวที่ปรับบูสต์เพิ่มจาก 1.7 บาร์เป็น 2.1 บาร์ จูนกล่องเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเสื้อสูบเป็นแบบ Closed deck และ Sleeve-free เพลาข้อเหวี่ยงฟอร์จน้ำหนักเบาพิเศษ และแกนหัวลูกสูบที่ผลิตด้วยเทคนิค 3D printing ทำให้แรงม้าของ BMW M4 CSL กระโดดขึ้นไปเป็น 550 แรงม้า กับแรงบิด 650 นิวตันเมตร เมื่อผนวกกับการลดน้ำหนักอย่างเข้มข้นในตอนแรก ทำให้ม้าแต่ละตัวเดินกันตัวปลิวเพราะแบกน้ำหนักเฉลี่ยเพียง 2.95 กิโลกรัมเท่านั้น และถ้าไม่นับไฮเปอร์คาร์แล้ว รถบนโลกนี้ที่มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักต่ำกว่า 3.00 กิโลกรัมก็สามารถนับคันได้
นั่นคือการการันตีความดุดันและก้าวร้าวอย่างสมศักดิ์ศรีชื่อ CSL แต่พลังจะมีประโยชน์อันใดถ้าไม่สามารถดึงออกมาใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย วิศวกรจึงเดินหน้าเสริมความแข็งแรงให้กับตัวรถในทุกจุดที่จะทำได้ เช่น การออกแบบและคำนวณมุมองศาของค้ำอะลูมิเนียมหล่อในห้องเครื่องยนต์ใหม่หมดจนทำให้โครงสร้าง BMW M4 CSL แกร่งขึ้นไปอีกระดับ ช่วงล่างแบบ Adaptive M Suspension ที่เตี้ยลงกว่า BMW M4 Competition อีก 8 มิลลิเมตร เบรก M Carbon ceramic เพื่อทำให้มันตอบสนองสไตล์การขับขี่ในทุกสถานการณ์ได้อย่างตรงจุด และถ้าเล่นกันหนักจนละเมิดกฎฟิสิกส์กันไปไกล ระบบคุมเสถียรภาพการทรงตัว M Traction Control ก็จะเข้ามาจัดการให้รถอยู่กับร่องกับรอยได้ โดยคนขับสามารถเลือกได้ว่าจะให้ระบบเข้ามาแทรกแซงมากหรือน้อยได้ถึง 10 ระดับด้วยกัน
ถึงจะเน้นน้ำหนักเบาและความดิบ แต่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในแบบรถจากศตวรรษที่ 21 ก็ยังมีให้มาครบถ้วน ทั้งพวงมาลัย M Alcantara พร้อมปุ่ม M1 และ M2 เพื่อเข้าสู่ค่าที่ตั้งไว้ได้ด้วยคลิกเดียว เรือนไมล์ดิจิตอล M-specific ขนาด 12.3 นิ้ว กับหน้าจอแสดงผลตรงกลาง BMW Live Cockpit Professional ขนาด 10.25 นิ้ว พร้อมฟีเจอร์ M Drive Professional ที่มีฟังก์ชันชวนให้คนขับอยากจะสะบัดท้ายโชว์ทุกสี่แยก M Drift Analyzer หรือไม่ก็อ่านชื่อถนนทุกเส้นลงท้ายว่า “เซอร์กิต” M Laptimer เซฟตี้เบลท์ M สามสี ช่องเก็บหมวกกันน็อคสองใบหลังเบาะหน้า หรือแม้แต่ระบบแสดงข้อมูลการขับขี่บนกระจกหน้า BMW Head-up Display หรือระบบช่วยเหลือการขับต่างๆ ก็มีมาให้ ดังนั้นหากใครอยากจะใช้ BMW M4 CSL เป็น Everyday Car ก็ดูไม่น่าจะติดขัดอะไร
กระนั้นแล้วก็อย่าได้รอช้า เพราะบีเอ็มดับเบิลยูไทยแลนด์เตรียมจะนำ BMW M4 CSL เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย คุณผู้อ่านที่พร้อมสัมผัสความพิเศษนี้สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเวบไซต์ https://www.bmw.co.th หรือที่โชว์รูมผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
ขอให้มีความสุขกับ BMW M ทุกวันครับ