Our tool for managing your permission to our use of cookies is temporarily offline. Therefore some functionality is missing.
The First-Ever BMW iX3.
การมาถึงของ BMW iX3 อาจจะดูผิวเผินราวกับมันเป็นเพียงอีกรุ่นย่อยนึงของ BMW X3 ที่อยู่กันมาจนถึงโฉม LCI แล้ว แต่นี่คือรถรุ่นที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์คันนึงที่น่าจดจำ เพราะมันคือรถอนุกรม X รุ่นแรกของบีเอ็มดับเบิลยูที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% และในอดีตของบีเอ็มดับเบิลยูก็ยังไม่เคยมีรถรุ่นไหนที่มีขุมพลังให้เลือกครบทุกรูปแบบในตัวถังเดียวกันมากเท่า BMW X3 รุ่นนี้ ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน ดีเซล ปลั๊กอินไฮบริด และล่าสุดไฟฟ้า 100% กับ BMW iX3
รูปลักษณ์ภายนอกมันก็คือ BMW X3 ที่คุ้นเคยกันดี ซึ่งนั่นก็เป็นข้อดีอย่างนึง เพราะรถ EV ที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแทนรถเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิมก็ไม่ควรจะทำให้เจ้าของมันต้องลำบาก หรือดูเป็นอะไรที่หลุดมาจากอีกโลกนึง จุดที่ BMW iX3 แตกต่างก็คือการตกแต่งด้วยขลิบสีฟ้าตามส่วนต่างๆ ของรถ ทั้งรอบโลโก้บนฝากระโปรงหน้า ฝากระโปรงท้าย และดุมล้อ ขอบด้านในของกระจังหน้าไตคู่ ช่อง Air curtains และดิฟฟิวเซอร์ที่กันชนท้าย ซึ่งแฟน BMW ย่อมรู้ดีว่ามันคือสัญลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่บีเอ็มดับเบิลยูเริ่มใช้มาตั้งแต่ BMW i3 และ BMW i8 เปิดตัว
บนตัวรถยังมีรายละเอียดแตกต่างอีกในหลากหลายจุด แต่พวกมันทั้งหมดก็ต่างเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสมรรถนะการขับขี่ทั้งสิ้น กระจังหน้าไตคู่จะมีส่วนตรงกลางที่ปิดสนิทพร้อมดีไซน์ลวดลายแบบ Mesh เพราะว่า BMW iX3 ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ต้องการอากาศปริมาณมากๆ เข้าไปเผาไหม้ แต่ส่วนล่างของกระจังหน้าไตคู่ยังมีช่องเล็กๆ ที่มีแผ่น Flap ซึ่งควบคุมการเปิดปิดด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าถึง 10 ระดับซ่อนไว้ด้านในอย่างแนบเนียน เพื่อใช้ควบคุมปริมาณอากาศที่จะเข้าไประบายความร้อนให้กับอุปกรณ์อย่างเบรกกับระบบขับเคลื่อนเพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะแก่การทำงานตลอดเวลา
ส่วนล้ออัลลอยน้ำหนักเบาขนาด 20 นิ้ว ก็ปรับปรุงให้เบายิ่งกว่าล้ออัลลอยน้ำหนักเบาที่ใช้กับรุ่นอื่นๆ อีก 15% และใช้ดีไซน์แอโรไดนามิกส์เพื่อคุมทิศทางการไหลของอากาศให้เป็นระเบียบควบคู่ไปกับช่อง Air Curtains และ Air Breather ส่วนใต้ท้องรถปิดด้วยแผ่นเรียบที่ขึ้นรูปเข้ากับสรีระของรถ บริเวณล้อหน้าและล้อหลังจะมีครีบจัดระเบียบทิศทางของอากาศเพื่อให้แอโรไดนามิกส์ดีขึ้น โดยเฉพาะแผ่นปิดตรงชุดสตรัทด้านหลังที่ดีไซน์มาเพื่อป้อนอากาศเข้าสู่ดิฟฟิวเซอร์เพื่อให้มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดทำให้ค่าแรงเสียดทานอากาศของ BMW iX3 ดีขึ้น 5% หรือถ้าคิดเป็นระยะทางก็จะทำให้สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นอีกราว 10 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
ภายในมีการปรับเปลี่ยนหน้าปัดตามโฉมรุ่น LCI ทั่วโลก ซึ่งจะได้คอนโซลที่ปรับปรุงเหมือนกับ BMW รุ่นใหม่ๆ แล้ว พร้อมกับ BMW Live Cockpit Professional เครื่องเสียง Harman Kardon และระบบจำลองเสียงเครื่องยนต์ Iconic sounds electric แล้วก็ยังประดับด้วยการขลิบสีฟ้าที่ปุ่มสตาร์ทกับคันเกียร์ เพื่อให้เจ้าของและคนนั่งได้รู้ว่านี่เป็น BMW iX3 ที่ขับด้วยพลังไฟฟ้า 100% BMW iX3 ที่จำหน่ายในประเทศไทยยังมีเทคโนโลยีจัดเต็มทั้งช่วงล่าง Adaptive ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ทำงานได้จนถึงจุดหยุดนิ่ง (Stop & Go) ระบบช่วยการขับขี่ Driving Assistant Professional จอ Head-up display รวมถึงระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ Parking Assistance Plus
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่ารูปลักษณ์หน้าตาก็คือเบื้องหลังการพัฒนาของมันทั้งหมด รถ EV ที่มักจะถูกครหามาเสมอว่ามันไม่ได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมายเท่ากับคำโฆษณา เพราะถึงแม้ตอนวิ่งบนถนนจะไร้มลพิษก็จริง แต่การชาร์จก็ยังต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ดี แถมขั้นตอนการผลิตก็ซับซ้อนกว่าและประกอบไปด้วยห่วงโซ่อุปทานที่ยุ่งเหยิงเป็นใยแมงมุมไปทั่วโลก ฉะนั้นเมื่อนับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ผลิตจนถึงใช้งานก็เยอะไม่ต่างจากรถเครื่องสันดาปภายใน หรือเผลอๆ จะมากกว่าด้วยซ้ำ
เรื่องนี้จึงสำคัญมากสำหรับอนาคตของสิ่งแวดล้อมโลกและ EV บีเอ็มดับเบิลยูจึงเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีน้อยที่สุด การออกแบบไปจนถึงกำหนดสเปกในการผลิตชิ้นส่วนนั้นเกิดขึ้นภายในรั้วของบีเอ็มดับเบิลยูแทบทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างเข้มงวด เริ่มตั้งแต่ขุมพลัง eDrive Technology เจนเนอเรชันที่ 5 พละกำลัง 286 แรงม้า ที่ออกแบบให้รวมมอเตอร์และเกียร์เข้าด้วยกันเป็นแพคเกจเดียวเพื่อประหยัดพื้นที่และลดน้ำหนักลง มอเตอร์แบบ Current-excited ที่ไม่ต้องใช้แร่หายาก (Rare Earth) ในการผลิต และสามารถปรับจูนการตอบสนองในโหมด Sport, Comfort และ Eco Pro ได้แตกต่างกันชัดเจนมากขึ้น
แบตเตอรี่แบบลิเธียมพัฒนาให้มีระดับความจุพลังงานมากขึ้น 20% ในขณะเดียวกันก็ลดการใช้แร่โคบอลต์ลงหนึ่งในสาม แถมยังสามารถปรับขนาดและจำนวนโมดูลให้เหมาะกับรถ EV รุ่นต่างๆ ที่จะตามออกมาในอนาคตได้ด้วย อย่างในกรณีของ BMW iX3 แบตเตอรี่ที่วางอยู่ใต้พื้นรถมีขนาดความจุ 80 kWh (ใช้งานจริง 74 kWh) จะมีเซลล์แบตเตอรี่มากถึง 188 เซลล์ จัดกลุ่มเป็น 10 โมดูล โดยที่แต่ละเซลล์ควบคุมการทำงานอิสระจากกัน ทำให้ได้ระยะทางสูงสุดประมาณ 460 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตามมาตรฐานการทดสอบ WLTP
เพราะฉะนั้นนอกจากชิ้นส่วนในตัวรถที่ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมแล้ว พลังงานที่โรงงานใช้สำหรับผลิต BMW iX3 ก็ต้องทำได้ตามวัตถุประสงค์ด้วย BMW iX3 ทุกคันรวมถึงขุมพลัง eDrive ผลิตจากโรงงาน BMW Brilliance Automotive ที่เสิ่นหยางประเทศจีนซึ่งใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด ดังนั้นเมื่อนับปริมาณคาร์บอนทั้งหมดที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงใช้งานกันจริงๆ ก็จะพบว่า BMW iX3 ปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศน้อยกว่า BMW X3 xDrive 20d เครื่องยนต์ดีเซลถึง 30% ในกรณีที่ชาร์จด้วยไฟฟ้าที่มาจากแหล่งปกติ หรือน้อยกว่าถึง 60% ในกรณีที่ชาร์จด้วยแหล่งพลังงานสะอาด
มาถึงด้านการชาร์จไฟกันบ้าง BMW iX3 ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Combined Charging Unit (CCU) ที่มาพร้อมกับขุมพลัง eDrive เจนเนอเรชันที่ 5 ซึ่งมีออพชันการชาร์จที่หลากหลายเพื่อลดความกังวลเรื่องระยะทางที่คนใช้รถยนต์ EV ทั่วๆ ไปมักจะพูดถึงกัน โดยสามารถชาร์จได้ทั้งกระแสสลับ (AC) จากปลั๊กไฟบ้านแบบ 1 เฟส ขนาด 2.3 kW ซึ่งจะใช้เวลามากหน่อยประมาณ 40 ชั่วโมง เพราะแบตเตอรี่มีขนาดถึง 80 kWh หรือผ่าน Wallbox แบบไฟ 3 เฟส ขนาด 11 kW ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง 30 นาที และแบบกระแสตรง (DC) ขนาด 150 kW เพื่อให้ได้ความจุ 80% ด้วยเวลา 34 นาที ส่วนในเวลาที่แบตเตอรี่ใกล้หมดระหว่างเดินทางก็สามารถแวะชาร์จ DC 10 นาที เพื่อได้ระยะทางเพิ่มขึ้น 100 กิโลเมตร พอให้เดินทางข้ามไปยังเมืองหรือจังหวัดต่อไปได้
BMW iX3 จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า 100% เต็มรูปแบบ มันยังเป็นหนึ่งในรถ EV จำนวน 13 รุ่นตามแผนกลยุทธ์ NUMBER ONE > NEXT ที่บีเอ็มดับเบิลยูประกาศไว้ในปี 2018 อีกด้วย คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าชมคันจริงได้ที่โชว์รูมผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอให้มีความสุขกับ BMW ทุกวันครับ